การปนเปื้อนโลหะหนักในน้ำ ดินตะกอน และปลาสลิด ในบ่อเลี้ยงปลาสลิด ตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ในการการศึกษาหาปริมาณโลหะหนักที่มีความเป็นพิษสูงสามชนิด ได้แก่ ตะกั่ว แคดเมียม และปรอท ในตัวอย่าง น้ำ ดินตะกอน และปลาสลิด โดยวิธีการเลี้ยงปลาสลิดแบบผสมผสานจำนวน 30 ตัวอย่างและวิธีเลี้ยงแบบภูมิปัญญาจำนวน 4 ตัวอย่าง ทำการเก็บตัวอย่างเป็นเวลา 7 เดือนในช่วงเดือนมกราคม 2557 ถึงเดือนกรกฎาคม 2557 โดยสำหรับการตรวจวิเคราะห์ปริมาณตะกั่วและแคดเมียมใช้เทคนิค Graphite Furnace Atomic Absorption Spectrometry (GF-AAS) และการตรวจวิเคราะห์ปริมาณปรอทใช้เทคนิค Cold Vapor Atomic Absorption Spectrometry (Cold Vapor AAS) วิเคราะห์ข้อมูลโดยทดสอบสถิติของข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป Kruskal-Wallis test และ Mann-Whitney U test ที่ระดับความเชื่อมั่น 95% (p < 0.05)

         จากผลการวิเคราะห์พบว่าทั้ง 34 ตัวอย่างมีการปนเปื้อนของตะกั่วในน้ำ เครื่องในปลา และดินตะกอนที่ปริมาณการปนเปื้อนสูงสุดที่ 0.0054 ppm 0.1511 ppm และ 0.0173 ppm ตามลำดับ ในส่วนเนื้อปลาสลิดพบการปนเปื้อน 10 ตัวอย่างที่ปริมาณการปนเปื้อนสูงสุดคือ 0.0838 ppm  พบการปนเปื้อนของแคดเมียมในน้ำ เครื่องในปลา และดินตะกอน มีปริมาณการปนเปื้อนสูงสุดที่ 0.0085 ppm 0.0124 ppm และ 0.0018 ppm ตามลำดับ ส่วนในเนื้อปลาไม่พบการปนเปื้อนของแคดเมียม สำหรับปรอทไม่พบการปนเปื้อนในทุกตัวอย่างที่นำมาวิเคราะห์ จากผลการศึกษาพบว่าปริมาณของโลหะหนักที่พบใน น้ำ เนื้อปลา และดินตะกอนทั้งบ่อแบบผสมผสานและบ่อแบบภูมิปัญญามีค่าไม่เกินค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ แต่ในเครื่องในปลามีปริมาณของตะกั่วเกินค่ามาตรฐาน การเปรียบเทียบปริมาณโลหะหนัก 3 ชนิด จากวิธีการเลี้ยงจากบ่อแบบผสมผสานและบ่อแบบภูมิปัญญา พบว่าในน้ำ เนื้อปลา และเครื่องในปลาที่เลี้ยงแบบผสมผสานกับแบบภูมิปัญญาไม่แตกต่างกัน ดังนั้นสามารถสรุปได้ว่าวิธีการเลี้ยงปลาสลิดจึงไม่มีผลต่อปริมาณการปนเปื้อนของโลหะหนักและคุณภาพของเนื้อปลาสลิด ในตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่ปลอดภัยสำหรับการบริโภคได้

หมวดหมู่

บทความล่าสุด

{{knowledgeForm.knowledgeTitle}}

{{knowledgeForm.createdDate | date:'MMM d, yyyy HH:mm '}}